ถามความเห็นของหมอสันต์ ผมแนะนำในฐานะแพทย์ประจำครอบครัวว่า
1.. เกิดเป็นผู้ชายหากอายุมาก (เกิน 75 ปี) และอยู่สุขสบายดี ไม่ต้องไปตรวจ PSA
2.. หากเผลอตรวจ PSA ไปแล้วพบว่าได้ค่าสูงแต่อยู่สุขสบายดียังฉี่ออกและอั้นฉี่ได้ ก็ไม่ต้องไปตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
3.. หากเผลอไปตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปและยืนยันว่าเป็นมะเร็งแล้ว โดยที่ยังอยู่สบายดีฉี่ออกอยู่ก็ไม่ควรไปตรวจการแพร่กระจาย (bone scan, MRI)
4. หากเผลอไปตรวจการแพร่กระจายแล้วไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องเดินหน้ารักษามะเร็งด้วยผ่าตัดฉายแสงหรือฮอร์โมนบำบัดหรือเคมีบำบัด
คำแนะนำข้อ 1 และ 2 นั้นเป็นไปตามคำแนะนำล่าสุดของคณะกรรมการป้องกันโรคของรัฐบาลสหรัฐฯ (USPSTF) ว่าเกิดเป็นชายที่อยู่มาได้ถึงอายุ 75 ปีแล้ว อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยนโดยการเที่ยวตรวจ PSA เพราะผลที่ได้ออกมาจะนำไปสู่การตรวจและการรักษาที่ไม่จำเป็นต่างๆนาๆ โดยที่เมื่อเทียบกับคนที่อยู่นิ่งๆอยู่เปล่าๆโดยไม่แกว่งเท้าหาเสี้ยนแล้ว อัตราตายจากมะเร็งต่อมลูกหมากโหลงโจ้งแล้วก็ไม่แตกต่างกัน
ส่วนคำแนะนำข้อที่ 3 และ 4 นั้นเป็นผลจากการใช้ดุลพินิจเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในคนแก่อายุ 84 ปี กล่าวคือในการจะรักษาด้วยวิธีการรุนแรงรุกล้ำทั้งหลาย วงการแพทย์มุ่งประโยชน์ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในสองอย่างคือ
(1) ความยืนยาวของชีวิต
(2) คุณภาพชีวิต
หากทำไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ การรักษานั้นเรียกว่าเป็นการรักษาไร้ประโยชน์ (futile treatment) ซึ่งตามหลักจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ แพทย์ไม่พึงให้การรักษาที่ไร้ประโยชน์แก่คนไข้
ข้อมูลการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์ไม่ได้ว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่แพทย์ทำไปสาระพัดนั้นจะยืดอายุคนป่วยให้ยืนยาวออกไปได้จริงหรือเปล่า แปลไทยให้เป็นจีนก็คือรักษาไม่รักษาก็แปะเอี้ย คือตายในเวลาเท่าๆกัน เพราะทุกวันนี้วงการแพทย์ยังไม่ทราบเลยว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนี้ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ (natural course) มันจะเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่รู้เลยว่าปล่อยโรคไว้จะเป็นอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าการเข้าไปรักษาผ่าตัดคีโมฉายแสงจะดีกว่าโรคปล่อยไว้ จริงแมะ ดังนั้นมะเร็งต่อมลูกหมากนี้จะใช้หลักคิดแบบมะเร็งที่อื่นที่ว่าตรวจวินิจฉัยได้เร็ว รักษาได้เร็ว อัตราการหายสูงนั้น ใช้ไม่ได้ งานวิจัยเรื่องนี้ที่ดีที่สุดชื่อ PIVOT study ซึ่งเอาคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกมา 695 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองพวก พวกแรกผ่าตัดรักษาไปตามสูตร พวกที่สองทิ้งไว้ไม่ทำอะไรเลย แล้วตามดูไป 10 ปี พบว่าพวกที่ทำผ่าตัดเกิดมะเร็งขยายตัวและแพร่กระจายน้อยกว่าพวกไม่ทำอย่างมีนัยสำคัญ แต่อัตราการรอดชีวิต (length of life) ของทั้งสองพวก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการรักษา กลับพบว่าไม่ต่างกันเลย
ส่วนเรื่องประโยชน์ในด้านคุณภาพชีวิตนั้น คุณพ่อของคุณตอนนี้ฉี่ได้อั้นได้นี่เรียกว่ามีคุณภาพชีวิตที่สุดยอดแล้ว การรักษามีแต่จะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีๆอยู่นี้แย่ลง ต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาล ยังไม่นับว่าจะโดนพิษของรังสีและของยาอีก เมื่อความยืนยาวของชีวิตก็ไม่ได้ คุณภาพชีวิตก็มีแต่จะขาดทุน แล้วจะรักษาไปทำพรือละครับ
คำแนะนำของผมอาจไม่เหมือนกับของหมอคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา คำแนะนำของผมเกิดจากการชั่งน้ำหนักหลักฐานวิทยาศาสตร์จากมุมมองแบบองค์รวมของแพทย์ประจำครอบครัว ย่อมแตกต่างจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่มองมาจากมุมของการมุ่งรักษาโรคนั้นให้สุดๆกันไปเลยรู้ดีรู้ชั่วกันไปข้างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง การแพทย์แผนปัจจุบันนี้มันมีสองด้าน ด้านสว่างก็คือการมุ่งเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยรักษาคนเจ็บไข้ให้หาย อีกด้านหนึ่งซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นด้านมืดของการแพทย์แผนปัจจุบันก็คือการที่ธุรกรรมทั้งหมดมีธรรมชาติเป็นการเสนอขายสินค้า ผมหมายถึงว่าทั้งการวินิจฉัยก็ดี การตรวจก็ดี และการรักษาก็ดี คือสินค้า โดยที่บริษัทยา บริษัทเครื่องมือ โรงพยาบาล ซึ่งเราเรียกรวมๆว่า medical industry เป็นผู้ขาย คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากด้านสว่าง แต่หลีกเลี่ยงการพลัดหลงเข้าไปสู่ด้านมืด
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์