ข้อความดั้งเดิม

ดูข้อความอื่นๆ 1 ความเห็น >
From นายแพทย์สุธี ทุวิรัตน์ 25 ก.ค. 2564

สรุปประสบการณ์ในการดูแลรักษาครอบครัวที่ติดโควิดทั้งบ้าน 10 คน แบบ home isolation

ครอบครัวนี้สมาชิก 10 คน ประกอบด้วย
อากงและอาม่า อายุ ประมาณ 70 ปี
อากงและอาม่า มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 2 คน
ลูกชายเป็นพี่ชายคนโต แต่งงานมีลูกมีเมียแล้ว มีลูกอ่อน 2 คน เป็นฝาแฝด อายุ 2 ขวบ
ลูกสาวคนโตก็แต่งงานแล้ว มีลูก 2 คน เริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว
ทั้งหมด 10 ชีวิต อาศัยอยู่รวมกันอย่างค่อนข้างจะแออัดในห้องแถวย่านตลาดน้อย

ครอบครัวนี้เกิดโชคร้าย ติดเชื้อโควิดโดยไม่รู้ตัวว่าติดได้อย่างไร ติดจากใคร โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้

วันที่ 12/7/64 อากงเริ่มมีอาการไอ

วันที่ 15/7/64 ลูกสาวคนโตเริ่มมีอาการไอ

วันที่ 17/7/64 ลูกสะใภ้ กับอาม่า เริ่มมีไข้ ไอ

วันที่ 18/7/64 หลาน 2 คนที่เป็นวัยรุ่น เริ่มมีไข้ต่ำๆ, ลูกสาว อาการมากขึ้น เริ่มมีอาการเจ็บคอ
ทั้งบ้านก็ยังไม่เฉลียวใจว่าติดเชื้อโควิดกันทั้งบ้านแล้ว

วันที่ 19/7/64 ลูกสะใภ้ มีไข้สูง ไปตรวจที่ รพ.กรุงเทพคริสเตียน พยาบาลแนะนำให้แยกกักตัวเอง เพราะสงสัยจะเป็นโควิด ลูกชายและลูกสะใภ้แยกตัวไปนอนที่คอนโด

วันที่ 21/7/64 ลูกสะใภ้รู้ผล และรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม, ลูกชายไปหาซื้อชุดตรวจมาได้ 4 ชุด ตรวจเสียไป 2 ชุด ผลตรวจ อาม่าเป็นบวก ลูกสาวเป็นลบ

วันที่ 21/7/64 ผลการตรวจ rapid test ของอาม่าเป็นบวก ลูกชายพาอาม่าไปตรวจที่โรงพยาบาล แจ้งกับทางโรงพยาบาลว่าผลตรวจ rapid test เป็นบวก แต่โรงพยาบาลไม่ตรวจให้, ครอบครัวนี้เริ่มสติแตก พยายามดิ้นรนโทรติดต่อหาที่ตรวจแต่หาไม่ได้เลย มีที่พอจะรับตรวจ ก็อยู่ไกล และจำกัดจำนวนตรวจ ต้องไปวัดดวงรอว่าจะได้รับการตรวจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ครอบครัวนี้จะไปตรวจได้ เพราะทุกคนเริ่มป่วยและมีอาการแล้ว รวมทั้งเป็นคนแก่และเด็ก สุดท้ายมีเพื่อนของลูกชายช่วยนัดจองคิวตรวจอากงและอาม่าได้ 2 คน ได้คิวตรวจที่แลบเอกชนในวันที่ 23/7/64

วันที่ 21/7/64 ลูกชายไปต้องไปนอนค้างคืนที่โรงพยาบาลจุฬา เพื่อแย่งจองคิวตรวจที่จำกัดวันละ 50 คน

วันที่ 22/7/64 ลูกชายได้รับการตรวจที่ รพ.จุฬา ผลเป็นบวก ได้รับการรักษาที่ รพ.จุฬา

วันที่ 22/7/64 หลานอายุ 2 ขวบ 2 คนเริ่มมีไข้ ประมาณ37.5ให้ทานยาลดไข้ และเช็ดตัว ไข้ลง

วันที่ 23/7/64 เด็ก 2 คนเริ่มมีไข้สูง 38.8 และ 38.6 เช็ดตัวไข้ไม่ลง นอนซึม

วันที่ 24/7/64 เด็ก 2 คนอาการดีขึ้น ไข้ประมาณ 37.5 เริ่มทานขนมได้

วันที่ 25/7/64 ลูกสาว 2 คน และหลาน 2 คนที่เป็นวัยรุ่น จองคิวตรวจได้ที่ หน่วยตรวจเชิงรุกของกทม.ที่เขตดุสิต และไปรับการตรวจแล้ว ได้รับการแจ้งว่าต้องรอผล 2 วัน จะแจ้งทาง sms

ตั้งแต่วันที่ 21/7/64 ที่รู้ว่ามีคนในครอบครัวนี้ติดโควิด ครอบครัวนี้พยายามหาทางที่จะติดต่อแจ้งไปหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1330 1668 1669 สาธารณสุข แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับแจ้ง โดยอ้างว่าเป็นกฎที่จะรับแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดเชื้อโควิดได้ ต้องมีผลการตรวจแบบ RT PCR เท่านั้น แม้ว่าครอบครัวนี้จะพยายามชี้แจงว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะมีคนในครอบครัวติดเชื้อและรักษาตัวในรพ.สนามแล้ว และคนที่เหลือในครอบครัวหาที่ตรวจโควิดไม่ได้ ขนาดเอาผลการตรวจของภรรยาลูกชายคนโตและบอกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ไม่ยอมรับแจ้ง และไล่ให้ต้องไปตรวจด้วย RT PCR มาก่อนเท่านั้น

เมื่อรู้ว่าติดโควิดทั้งครอบครัว ก็ดิ้นรนหาซื้อชุดตรวจ และหาซื้อยาฟ้าทะลายโจร กระชาย ทั้งยาไทยและยาจีน ทุกตัวที่โฆษณาว่ารักษาโควิดได้ มากินกันทั้งครอบครัว

น้องผมที่เป็นลูกเขยของบ้านนี้ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากผมในคืนวันที่ 21/7 ผมได้โทรไปสอบถามอาการของคนในครอบครัวนี้พบว่า อาม่า และน้องสะใภ้ผม เริ่มมีอาการไอมากและหอบเหนื่อย พูดได้ไม่เยอะ พูดไปไอไป เชื้อน่าจะเริ่มลงปอดแล้ว

ผมประเมินดูแล้วมั่นใจว่าหาเตียงในโรงพยาบาลไม่ได้แน่ๆ ครอบครัวนี้น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อโควิดสีเหลือง และมี 2 คนที่น่าจะกำลังเป็นสีแดง โอกาสที่จะรอดของครอบครัวนี้คือ รักษาตัวที่บ้าน ผมตัดสินใจที่จะไม่เสียเวลาไปในการติดต่อหาเตียงตามโรงพยาบาลต่างๆ

การหายาฟาวิพิราเวียมาให้เร็วที่สุด คือทางรอดเดียวของครอบครัวนี้ เพื่อป้องกันไวรัสลงปอด และลดการแพร่เชื้อไวรัส แม้ว่าจะติดเชื้อกันทั้งบ้านแล้ว แต่การอยู่กันอย่างแออัด 10 คนในห้องแถวเล็กๆ จะมีไวรัสออกมากับลมหายใจตลอดเวลา และทุกคนก็หายใจเอาไวรัสของคนในครอบครัวอีก 9 คนตลอดเวลา น่าจะทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้นทุกคน

วันที่ 22/7 ผมและน้องชายพยายามติดต่อหาซื้อยาฟาวิพิราเวีย จากเพื่อนที่อยู่โรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่สามารถหาซื้อได้เลย ทุกโรงพยาบาลยืนยันว่าการจะจ่ายยา ต้องสั่งโดยหมอ infectious และต้องมีใบตรวจด้วย RT PCR ของแต่ละคนเท่านั้น ผมและน้องชายพยายามติดต่อหาที่ตรวจ RT PCR และ RAT แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับตรวจ ขนาดน้องชายผมเป็น FT โรงพยาบาลเอกชน บอกว่าเป็นญาติและนามสกุลเดียวกัน ก็ยังไม่รับตรวจ และไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียให้ ผมเลยต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆศิริราช ต้องขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจ และช่วยหายาฟาวิพิราเวีย ได้ 3 ชุด เมื่อได้ยามาแล้ว ผมให้อากง และอาม่า กับลูกสาวที่เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อยหอบได้ทานยาก่อน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงและเริ่มมีอาการหนักแล้ว

วันที่ 23/7 หลังจากได้ยาฟาวิพิราเวียไป 2 โดส อาม่าและลูกสาวที่อาการหนักที่สุด อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คุยได้มากขึ้นไอน้อยลง และต้องขอบคุณเพื่อนๆ ที่ช่วยหายาฟาวิพิราเวียร์ มาให้อีก 3 ชุด และส่ง pulse oximeter มาให้ วัดออกซิเจน อาม่าและลูกสาว ได้ประมาณ 94 ส่วนคนอื่นได้ 96 ยกเว้นเด็ก 2 ขวบ 2 คน วัดได้ 93 แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะนิ้วเด็กหรือเปล่าเลยวัดได้ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่อาการเด็กก็เริ่มมีไข้สูงและเริ่มซึมแล้ว แนะนำให้ทานยาลดไข้พาราเซต และเช็ดตัวบ่อยๆ และวางแผนว่าถ้าวันที่ 24/7 อาการแย่ลง จะแบ่งยาฟาวิพิราเวียของลูกสาวคนที่ไม่มีอาการ มาให้เด็กทั้ง 2 คน แต่โชคดีที่ เมื่อวานนี้ไข้เริ่มลด และเด็กอาการดีขึ้น

วันที่ 25/7 ทุกคนในครอบครัวอาการดีขึ้นแล้ว แต่จมูกยังไม่ได้กลิ่น วัดออกซิเจน ได้ 98 ทุกคน

สรุป
1. ยาฟาวิพิราเวีย จำเป็นมากสำหรับการรักษาตัวเองที่บ้าน และต้องรีบให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการหนัก
2. สำคัญที่สุดในการดูแลรักษาทางไกลคือ การให้กำลังใจ เพราะคนไข้จะวิตกกังวลมาก กลัวตาย กลัวไปทุกเรื่อง ผมโทรไปถามอาการและชวนพูดคุยบ่อยมาก ทุก 2-3 ชั่วโมง
3. ควรจะต้องมียาลดไข้ ยาแก้ไอ และฟ้าทะลายโจร ติดบ้านไว้
4. ตอนนี้โควิดมันแพร่กระจายไปทั่วแล้ว แม้แต่อยู่แต่ในบ้านยังติดโควิดได้ ครอบครัวนี้อากงอาม่าและลูกสาว 2 คนอยู่แต่ในบ้าน มีแต่ลูกชายและลูกสะใภ้ที่ทำงานนอกบ้าน แต่อากงติดเชื้อเป็นคนแรกเลย ยังไม่รู้ว่าติดได้อย่างไร ยิ่งทำให้สงสัยว่าน่าจะติดจาก airborne
5. ให้ทานน้ำเยอะๆ ผมสั่งให้กินน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร และทุกครั้งที่โทรไปจะกระตุ้นให้กินน้ำเยอะๆ เพื่อช่วยเรื่อง hydration
6. ผมให้คนไข้ทุกคน วัดไข้ จับชีพจร และนับการหายใจทุก 1 ชั่วโมง บันทึกไว้ วัตถุประสงค์เพื่อให้คนไข้ได้รู้จักสังเกตุอาการตนเอง ต่อมาเมื่อมี pulse oximeter ผมก็เปลี่ยนมาให้ทุกคนบันทึก ออกซิเจนและชีพจร ของตนเอง ทุก 1 ชั่วโมง เพื่อที่เราจะได้ให้คนไข้ได้รู้การเปลี่ยนแปลงของตนเอง และช่วยให้ผมที่เป็นหมอสามารถที่จะมาประเมินทบทวนอาการของคนไข้ย้อนหลังได้
7. ในกรณีเลวร้ายสุดๆ คือยาฟาวิพิราเวียไม่ได้ผล และคนไข้เริ่มมีอาการปอดอักเสบชัดเจน ผมจะไม่พยายามไปหาออกซิเจนมาให้ เพราะรู้ว่าไม่ได้ผล มีแต่จะทำให้คนไข้ทรมานมากขึ้น เพราะคนไข้ที่ปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็น high flow oxygen แต่ผมจะทดลองให้การรักษา ด้วยวิธีการที่ยังไม่เคยมีใครทดลองมาก่อน แต่อาจจะได้ผลสามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยได้ ซึ่งถ้าเพื่อนๆมีญาติหรือคนในครอบครัวที่เริ่มมีปอดอักเสบและไม่สามารถหาเตียงในไอซียูได้ หลังไมค์มาคุยกันนะครับ ยินดีแชร์ให้ฟังครับ แล้วเพื่อนๆให้คนไข้ตัดสินใจเองว่าจะทดลองรักษาตัวตามสูตรของผมหรือไม่
8. ตอนนี้การติดเชื้อแพร่ระบาดเข้าไปในครัวเรือนแล้ว เมื่อพบผู้ติดเชื้อ 1 คน สมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อไปแล้วทุกคน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ต้องยกเลิกกฎที่บังคับให้ต้องมีผลตรวจ RT PCR ทุกคนถึงจะรับลงทะเบียนเข้าระบบ ควรจะใช้แค่ผลการตรวจ rapid test และกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีหน้าทีจัดหาชุดตรวจ ATK ส่งไปให้คนในครอบครัวผู้ป่วยทุกคน เพื่อที่จะรีบตรวจและคัดกรองผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือคนแก่ต้องไปดิ้นรน หาที่จองคิวตรวจด้วยตัวเอง และก็เอาเชื้อไปแพร่ให้คนรอบข้าง แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
9. ครอบครัวนี้น่าจะเริ่มติดเชื้อวันที่ 12/7/64 จนกระทั่งวันนี้ (25/7/64) ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงการตรวจด้วย RT PCR และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด
10. ช่วยกันเรียกร้องกดดันให้กระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกระเบียบคำสั่งที่การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจยืนยันด้วย RT PCR เท่านั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การระบาดอย่างหนัก ควรจะยืนยันด้วยผลการตรวจ ATK ก็น่าจะเพียงพอแล้ว และต้องเป็นหน้าที่ของสธ. สปสช. ที่ต้องจัดหาและจัดส่งชุดตรวจ ATK ไปให้ครอบครัวของผู้ติดเชื้อ เพื่อที่จะคัดกรองหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์
11. ถ้าคิดว่าโพสนี้เป็นประโยชน์ สามารถแชร์ต่อไปได้ครับ

นายแพทย์สุธี ทุวิรัตน์ 25 ก.ค. 2564

ความเห็นนี้