ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด เตือนว่าทำบุญอย่าปล่อย "ปลาดุก" ชี้ปลาดุกส่วนใหญ่ เป็นปลาดุกบิ๊กอุย กินพืชและสัตว์น้ำ กินปลาเล็กไม่เลือก ตั้งสมมติฐานชี้ภาพ กระทบระบบนิเวศ
ปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุย ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ โดยปลาดุก กินอาหารวันละ 5% ของน้ำหนักตัว โดยกินทั้งพืชและสัตว์ ปริมาณที่เท่าๆ กัน ซึ่งปลาดุกที่ปล่อยจะมีน้ำหนักประมาณ 3 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม และจะถูกนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำที่สมบูรณ์มีอาหารให้กิน
ยกตัวอย่าง หากต้องการปล่อยปลาดุก 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว ปลาดุก 1,000 กิโลกรัม จะกินอาหารวันละ 50 กิโลกรัม ในอาหาร 50 กิโลกรัมนี้เป็นสัตว์ครึ่งหนึ่ง ดังนั้น คิดเป็นสัตว์น้ำหนักรวม 25 กิโลกรัม หรือ 25,000 กรัม
ปลาดุกตัวขนาดนี้ สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่าง ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน ปลาซิว กุ้งฝอย และหอยขม ที่กินได้พอดีๆ คำ จะตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะหนักไม่เกิน 5 กรัม ดังนั้น ปลาดุก 3,000 ตัว ที่ปล่อยไปนี้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดี ก็ต้องกินสัตว์น้ำอื่นๆ ไปวันละ 5,000 ตัว หรือปีละ 1,800,000 ชีวิต