#กินเค็มระวังความดันขึ้น…
คำแนะนำทางการแพทย์ดังกล่าวนี้ ผมได้ยินมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์… จนเป็นอาจารย์ และในที่สุด จนเป็นความดันโลหิตสูง เสียเอง
ใช่ครับอ่านไม่ผิดหรอกครับ
ผมมี ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่า 2 ปี แล้วผมจะได้รับคำแนะนำให้เริ่มต้นรักษา ด้วยการปรับวิธีการใช้ชีวิต และหนึ่งคำแนะนำนั้นก็คือ
หมอต้องลดปริมาณเกลือในอาหารลงเยอะๆเลยนะครับ…
ถ้าไม่ดี เดี๋ยว start amodipine เลยนะ
ผมก็พยายามควบคุมทุกอย่าง งดอาหาร ที่มีรสชาติเค็มที่ผมรัก แกงไตปลา สะตอผัดกะปิ และ ทานน้ำมากๆ…. แต่ที่ผมยังกินอยู่เหมือนเดิมก็คือ เข้าไปน้ำตาล แต่เหมือนดูจะไม่ดีขึ้นก็คือ
ผมยังคงอ้วนลงพุง มีกรดยูริคสูง มีไขมันในเลือดสูง
ความดันโลหิตสูงของผมไม่ดีขึ้น กลับแย่ลงจนกระทั่ง หรือ เพราะว่า เส้นเลือดของผมเริ่มแข็ง กรอบเหมือนเส้นเลือดคนแก่ ทั้งๆที่อายุยังไม่ถึง 50 จริงๆเนี่ยนะ…
ในที่สุด เกิดภาวะวิกฤตบางอย่างกับตัวผม เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงอย่างมาก….
ซึ่งผมเคยเล่าให้เพื่อนๆฟังว่าตอนนั้นมันเกิดอะไรบ้าง มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ผมคิดว่าผมจะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อหลุดพ้นจากภาวะนี้
จากวิกฤตนั้น ผมจึงคิดทบทวนใหม่ว่า ผู้ร้ายตัวจริงที่สร้างปัญหาให้กับผมตอนนี้ มันต้องไม่ใช่ แค่ การกินเค็ม การกินกาแฟ หรือ เส้นเลือดผมแข็งกรอบตามวัยมากจนเกินไป….
ผมจึงจะเริ่มตั้งต้นจากคำว่า metabolic syndrome ซึ่งเป็นความผิดปกติทั้งหมดที่ผมมี ไม่ว่าจะเป็น อ้วนลงพุง ความดันสูง ไขมันในเลือด ยูริคสูง…
หลังจากนั้นผมก็เริ่มรู้ว่า สิ่งที่ผมเป็น ว่าเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า
ภาวะดื้ออินซูลิน หรือ insulin resistance… มาจากการบริโภค น้ำตาล
น้ำหวาน คาร์โบไฮเดรตแปรรูป แบบไร้ระเบียบวินัยของตัวผม
ตลอดระยะเวลานับ 10 ปีที่ผ่านมา
จากการทบทวนความรู้ต่างๆทำให้ผมพบว่า ภาวะดื้ออินซูลินนั้น
ส่งผลกระทบ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ด้วยกลไกหลายอย่าง
ได้แก่
1) มีการเพิ่มการดูดกับโซเดียมที่หน่วยไตหลายตำแหน่ง
2) มีการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกผ่าน RAAS
3) มีการเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อในหลอดเลือด ผ่านกลไกของ การเพิ่มแคลเซียมเข้าเซลล์
รูปภาพที่ประกอบการโพสต์นี้ แสดงให้เห็นถึงผลของ ฮอร์โมนอินซูลิน ที่มีต่อการกระตุ้นให้ไต เกลือโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ผ่าน receptor ต่างๆในรูป
ดังนั้นการรักษาภาวะ ดื้อต่ออินซูลิน หากประสบความสำเร็จในการักษา
ก็จะส่งผลให้ความดันโลหิต กลับมาสู่สภาวะปกติได้
และมีรายงานการรักษา ในแนวทางนี้หลายรายงาน พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วย สามารถลดและหยุดยาลดความดันโลหิตได้
แล้วภาวะดื้อต่ออินซูลิน ผู้ต้องหาในคดี metabolic Syndrome เกิดจากอะไร… ถ้าได้ติดตามที่ผมเขียนมาตั้งแต่ต้น ก็จะตอบได้ทันทีว่า
"เกิดจากการบริโภค น้ำหวาน น้ำตาล คาร์โบไฮเดรตแปรรูปต่างๆ ในปริมาณที่มาก แล้วต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ"
ดังนั้น ผู้ต้องหาตัวจริง ก็คงหนีไม่ น้ำตาลน้ำหวานและคาร์โบไฮเดรตแปรรูป ที่เรารับประทานอย่างมาก ไม่มีขีดจำกัด ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆนั่นเอง
ถ้าผมเลือกรักษาตัวเองที่ปลายเหตุมันง่ายมากเลยครับ คือ
รักษาตามกลไกล ข้อ 1) ทานยา HCTZ
กลไกล ข้อ 2) ทานยา enalapril และ กลไกลข้อ 3) ทานยา amlodipine
เลือกเอาเลย…
ทานยาลดความดันแล้วนั่งดูความดันลด ปรับยา แต่ผู้ร้ายต้นเหตุไม่ถูกกำจัด… รอวันสร้างหายนะรอบใหม่ ทีหนักกว่าเดิมนั่นคือ เบาหวานชนิดที่2
และก็ต้องถามตนเองว่า แล้วผมต้องกินยาถึงเมื่อไหร่อีกด้วยครับ…
ผมเลยตัดสินใจทดสอบ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ ในครั้งนี้กับตัวผมเอง
ด้วยการรักษาตนเอง ตามแนวทางของการ รับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ และจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร… และผมต้องใช้ความอดทน และการปรับตัว อย่างสูงมาก เพราะเดิมพันนี้มันคือ ชีวิตของตนเอง
ผ่านไป 1 เดือน ผมไม่เคยมีระดับความดัน 160/100 อีก ยังมี ตัวบน 130-140 บ้าง…
และที่ระยะเวลาผ่านไป 3 เดือนความดันตัวบน (Systolic) ของผม ไม่เคยเกิน 120 ตัวล่างไม่เคยเกิน 80 อีกเลย
แม้จะวัดในสภาวะหลังออกกำลังกายทันทีก็ตาม…
ร่วมกับน้ำหนักตัวที่หายไปกว่า 13 กิโลกรัม
(วิชาตัวเบามันเป็นแบบนี้นี่เอง)
สรุปคือ ผู้ร้ายตัวการ ตัวสำคัญสำหรับโรคความดันโลหิตสูง นั่นก็คือ "ภาวะดื้อต่ออินซูลิน" อันเนื่องมาจาก การบริโภคน้ำตาล คาร์แปรรูปนั่นเอง
เขียนแบบนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าจะ ไปกินเค็มหนักๆ อันนั้นก็ไม่ควรนะครับ
แม้เขาไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริง แต่ถ้าเรากินแบบไม่คิด
ผู้ร้ายตัวปลอมนี้เขาก็พร้อมจะพายเรือให้โจรนั่งนะครับ
ผมหวังว่าสิ่งนี้จะมีประโยชน์ กับผู้ติดตามทุกท่าน ในการนำไปปรับใช้
อย่ารอให้ ชีวิตต้องเจอแบบที่ผมเจอ แล้วจะคิดจะเริ่มนะครับ
#หมอจิรรุจน์
สำหรับท่านที่สนใจเนื้อหาเพิ่มเติม เราเข้าไปอ่านใน Reference ที่แนบไว้ได้นะครับ
ที่มาภาพ:
Insulin resistance and hypertension: new insights, Kidney International Vol.87 2015
ที่มาข้อมูล
Obesity-related hypertension: pathogenesis, cardiovascular risk, and treatment. A position paper of The Obesity Society and the American Society of Hypertension. J Clin Hypertens (Greenwich). 2013; 15: 14
Insulin resistance, obesity, hypertension, and renal sodium transport. Int J Hypertens [online]. 2011; 2011: 391762