ต่อจากนี้ ให้จับตา บิ๊กตู่ อาจมีตำแหน่งการเมืองในพรรครวมไทยสร้างชาติ ตามมาแน่นอน อาจไม่ได้มีตำแหน่งแบบเป็นทางการ ตามพรบ.พรรคการเมือง แต่เป็นลักษณะตำแหน่งลอย แต่มีอำนาจเต็ม กำหนดทิศทางพรรคได้ เช่นประธานพรรค หรือประธานที่ปรึกษาพรรค เป็นต้น
ความเคลื่อนไหวอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ ที่ต้องติดตามคือการใช้อำนาจที่มีแค่นายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจนี้คือ
การยุบสภาฯ
ซึ่งถึงตอนนี้ ทุกฝ่ายในแวดวงการเมืองเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์คงยุบสภาฯแน่นอน ไม่อยู่จนครบเทอม ไปถึง 23 มีนาคม เพียงแต่ว่าจะยุบช่วงไหนเท่านั้น จะยุบในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ 28 กุมภาพันธุ์ หรือจะยุบหลังจากนั้น คือช่วง 1-23 มีนาคม ที่ผลของการยุบก่อนหรือหลัง 28 กุมภาพันธุ์ ก็จะทำให้ การเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันสงกรานต์
แต่กระแสเสียงการเมือง ส่วนใหญ่ประเมินว่าน่าจะยุบสภาหลัง 28 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ไปจัดเลือกตั้งหลังสงกรานต์
ทฤษฏีความเชื่อดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อ ปรากฏว่า ในงาน เปิดตัว บิ๊กตู่เข้ารวมไทยสร้างชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เจ๊โอ๋ รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปร่วมงานด้วย และเตรียมลาออกจากส.ส.ไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พร้อมกับส.ส.ประชาธิปัตย์อีกจำนวนหนึ่ง
ที่ผ่านมา เจ๊โอ๋ ถือว่ารู้ข่าวอินไซด์ ของรวมไทยสร้างชาติและพลเอกประยุทธ์ ดีอยู่แล้วว่า จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร ก็ให้สัมภาษณ์ในงานดังกล่าวว่า จะยังทำหน้าที่ส.ส.ต่อไป และจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์หลังนายกฯยุบสภาฯ เพราะยังย้ายมาได้ทัน
จุดนี้ยิ่งตอกย้ำว่า กลุ่มส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่จะย้ายมารวมไทยสร้างชาติ คงรู้แน่ชัดแล้วว่า บิ๊กตู่จะยุบสภาช่วงไหน จึงไม่จำเป็นต้องรีบลาออก เพราะหากยุบสภาฯ เรื่องการสังกัดพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง ก็จะเหลือแค่ต้องสังกัดพรรคอย่างน้อย 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ย่อมทันอยู่แล้วเพราะการเลือกตั้งหากยุบสภา ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วันเรียกได้ว่า เหลือๆ
มันก็เหลือแค่คอยดูว่า พลเอกประยุทธ์ จะยุบสภาช่วงไหนเท่านั้น
ในทางการเมือง เชื่อได้ว่า หาก พลเอกประยุทธ์ เห็นว่า รวมไทยสร้างชาติ พร้อมที่สุดแล้วสำหรับการลงทำศึกเลือกตั้ง ก็คงพร้อมยุบสภา แต่หากเห็นว่ายังไม่พร้อม คงพยายามลากยาวให้นานที่สุด แต่ไม่เกิน 23 มีนาคม ทีเป็นเดดไลน์สุดท้าย
การกดปุ่มยุบสภา ดังกล่าว ในทางข้อกฎหมาย ก็ต้องมีองค์ประกอบรองรับด้วย ที่ก็จะมีสองปัจจัยสำคัญคือ
หนึ่ง ต้องมีการโปรดเกล้าฯ ร่างพรบ.พรรคการเมืองและร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส. ออกมาประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในชั้นตอนการรอโปรดเกล้าลงมาอยู่
และสองคือ ต้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 400 เขต อย่างเป็นทางการ
เพราะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เปลี่ยนจากเลือกตั้งปี 2562 เพราะต้องมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมา อีก 50 เขต จากเดิมตอนปี 2562 มีแค่ 350 เขตเท่านั้น
โดยมีข่าวว่า อีกไม่นาน กกต.ก็น่าจะประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกมาแล้ว หลังสำนักงาน กกต. ได้ส่งข้อมูลเรื่องจำนวนประชากรทั่วประเทศและจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะมีในการเลือกตั้ง ให้ที่ประชุมใหญ่กกต. พิจารณาเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา
เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่แข่งขันกันสูงเช่น กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา หลายจังหวัดในภาคใต้ และภาคกลาง ต้องบอกไว้ว่า ประกาศออกมาเมื่อไหร่ได้มีเสียงโวยวาย จากพรรคการเมืองต่างๆ ตามมาแน่นอน
ทำนองว่า กกต.แบ่งเขตไม่เป็นธรรม โวยว่ามีการแยกเขตรวมเขต ที่ทำให้ บางพรรคการเมืองได้เปรียบ บางพรรคเสียเปรียบ เลยไปถึงอาจอัด กกต.ว่า แบ่งเขตเพื่อช่วยพรรครัฐบาล
เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นที่รู้กันในทางการเมืองสำหรับนักการเมืองที่เชี่ยวกราก เจนสนามรบ ว่านี้คือ อีกหนึ่งเทคนิคการเมือง ที่อาจทำให้บางพรรคการเมือง มีโอกาสพลิกได้ส.ส.เขต ในบางจังหวัดแบบคนคาดไม่ถึง เพราะกุมความได้เปรียบเรื่อง เขตที่ตัวเองมีฐานเสียงดี มาอยู่ในเขตเลือกตั้ง ส่วนเขตที่ตัวเองฐานเสียงไม่ดี เป็นพื้นที่ของคู่แข่งขัน ได้ถูกโยกไปไว้ในเขตอื่น ทำให้คู่แข่งฐานเสียงหายไปทันทีจากผลการแบ่งเขต
เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง บอกไว้ล่วงหน้า มีทัวร์ลงสำนักงานกกต. แจ้งวัฒนะ แน่นอน