📍พาราเซตามอล ยาพิษสามัญประจำบ้าน
Paracetamol Common Household Poisonous Medicine
คนไทยเกือบทุกคน รู้จักยาแก้ปวดลดไข้ ชื่อ พาราเซตามอล และเข้าใจว่า เป็นยาที่ใช้รักษาโรคได้ เพราะเวลามีไข้ กินแล้วไข้หาย พอมีไข้อีกก็กินอีก จนกลายเป็นความเชื่อว่า เวลามีไข้ต้องกินยาพาราเซตามอล
ปัญหาที่คนไทยไม่รู้ก็คือ ยาพาราเซตามอล มีไว้แค่บรรเทาอาการ ไม่ได้ช่วยให้โรคหาย และยังเป็นยาที่มีอันตราย แม้กินเพียงไม่กี่เม็ด ก็อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ และไตได้อย่างรุนแรง
ขนาดสูงสุดของ ยาพาราเซตามอล ที่เคยเป็นที่ยอมรับ คือไม่เกิน 2000- 3000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับ พาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 4-6 เม็ด เนื่องจากเป็นยาที่มีฤทธิ์อ่อน คนส่วนใหญ่ จึงนิยมกินพาราเซตามอลครั้งละสองเม็ด และความที่เป็นยาออกฤทธิ์สั้น จำเป็นต้องกินกันบ่อย ๆ ทุก 4-6 ชั่วโมง ทำให้มีโอกาสที่คนไข้จะได้รับยาในขนาดที่เป็นพิษได้สูง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีรายงานต่อเนื่อง ถึงการรับประทานยาพาราเซตามอล ในขนาดที่เข้าใจว่าปลอดภัย แต่ลงเอยด้วยการที่ผู้ป่วยเสียชีวิต ส่งผลให้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้สั่งยกเลิก พาราเซตามอล ในขนาด 500 มก และให้ขายเพียงขนาด 325 มก เท่านั้น
ยาที่แพทย์ใช้รักษาพิษของพาราเซตามอล มีชื่อว่า N-acetyl cysteine หรือ แนค (NAC) ในประเทศไทย แนค (NAC) ได้ถูกจดทะเบียนเป็นยาละลายเสมหะ ที่มีชื่อทางการค้าว่า Fluimucil, Naclong, หรือ Flemex AC OD ขนาดที่ใช้คือ 600 มิลลิกรัม ต่อวัน เนื่องจากเป็นยาที่แทบจะไม่มีผลข้างเคียง จึงสามารถกินต่อเนื่องได้ทุกวัน แม้ในคนที่ไม่มีเสมหะก็ตาม
ผู้เขียน จึงขอแนะนำให้คนทุกคน เลี่ยงการใช้ยาพาราเซตามอล โดยไม่จำเป็น ถ้ามีไข้ควรเลือกวิธีเช็ดตัวลดไข้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาพารา ก็ควรกินแนค (NAC) ร่วมด้วย
เวลาที่คนไข้ที่มีไข้ และมาโรงพยาบาลด้วยปัญหาตับอักเสบ แพทย์ส่วนใหญ่ จะคิดถึงแต่โรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และไม่ได้คิดว่า ตับอักเสบนั้น อาจเป็นผลจากยาพาราเซตามอล
ตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคไข้เลือดออก คนไข้เหล่านี้จะมีไข้สูงตลอดวัน หลังจากการกินยาพาราเซตามอล ไข้ก็ลดลงไม่มาก สักพักไข้ก็กลับมาสูงอีก ทำให้คนไข้ต้องใช้ยาพาราเซตามอลอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่า ในคนที่เป็นโรคไข้เลือดออก และตับมีการทำงานที่บกพร่องอยู่แล้ว การใช้ยาพาราเซตามอล แม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นเสียชีวิต
ผู้เขียนเคยได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอายุ 16 ปี รายหนึ่ง ที่มาโรงพยาบาลด้วยโรคไข้เลือดออก มีระดับเอนซัยม์ตับสูงมาก (SGPT > 4000) และอยู่ในสภาพไม่รู้สึกตัว ญาติได้รับแจ้งไปว่าเด็กคงไม่รอดชีวิต หลังจากที่ผู้เขียนไปดูในตอนดึก ก็ได้สั่งการรักษาด้วยการใช้ แนค (NAC) ขนาดสูงหยดทางหลอดเลือด วันรุ่งขึ้น ระดับเอนซัยม์ตับก็ลดลงเกือบ 10 เท่า เด็กเริ่มรู้สึกตัว และกลับบ้านได้ใน 3 วันต่อมา
ไม่เพียงแต่ ยาพาราเซตามอล จะมีพิษต่อตับ แต่ยังมีพิษต่อไตอีกด้วย ผู้เขียนมีคนไข้ทีมาด้วยปัญหาไตวายโดยไม่ทราบสาเหตุ พอซักประวัติก็ทราบว่า คนไข้กินพาราเซตามอลวันละ 1-2 เม็ด เกือบทุกวัน บางรายก็บอกว่า ปวดศีรษะ พอตรวจดูก็พบว่าเป็นความดันโลหิตสูง เมื่อได้ยาลดความดัน อาการปวดศีรษะก็หาย มีอยู่รายหนึ่งที่กินพาราเซตามอลทุกวัน เพราะกินแล้วไม่ปวดไม่เมื่อย ทำงานได้ดี เลยเข้าใจผิดว่าเป็นยาชูกำลัง กินได้ทุกวัน ลงท้ายก็กลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
ผู้เขียนเคยได้รักษาคนไข้ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ ที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการ ไม่มีปัสสาวะมา 3 วัน ซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยมีปัญหาปวดน่องอย่างรุนแรง จึงไปคลินิก ได้ยาฉีดแก้ปวด วันละเข็มติดต่อกันสามวัน หลังจากนั้น ปัสสาวะลดลงจนกระทั่งไม่มีปัสสาวะออก ผู้เขียนจึงได้ให้ NAC ขนาดสูงเข้าทางหลอดเลือด และตามด้วยการล้างไต ภายหลังการล้างไตได้ 3 ชั่วโมง ผู้ป่วยก็เริ่มมีปัสสาวะออกมาเรื่อย ๆ จำนวนมาก และการทำงานของไตก็กลับสู่สภาพปกติ และคลอดบุตรเป็นปกติในสองเดือนถัดมา
ขอย้ำว่า พาราเซตามอล ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นยาที่มีพิษ ไม่ควรคิดว่า จะกินเท่าไรก็มีอันตราย หรือคิดว่า ทุกครั้งที่เป็นไข้ จำเป็นต้องกินยาพาราเซตามอล แนะนำว่าการเช็ดตัวลดไข้ จะปลอดภัยกว่าการใช้ยา เพราะการกินยาพาราเซตามอลพร่ำเพื่อ เพราะเข้าใจว่าช่วยให้หายจากโรค อาจส่งผลให้เราหายไปจากโลกแทนได้ครับ
ดร.นพ. พัฒนา เต็งอำนวย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต
ไม่ระบุชื่อ
• 1 ปีที่แล้ว